"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา
จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย
ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่
แต่เราอยู่พอมีพอกิน
และขอให้ทุกคนมีความปรารถนา
ที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน
มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน
ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด
แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน
มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้เราก็จะยอดยิ่งยวดได้..."
(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย วันพุธ ที่ 4 ธันวาคม 2517)
พระบรมราโชวาทนี้ ทรงเห็นว่าแนวทางการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ในเบื้องต้นก่อน เมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงสร้างความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น ซึ่งหมายถึงแทนที่จะเน้นการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมนำการพัฒนาประเทศ ควรที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจพื้นฐานก่อน นั่นคือ ทำให้ประชาชนในชนบทส่วนใหญ่พอมีพอกินก่อน เป็นแนวทางการพัฒนาที่เน้นการกระจายรายได้เพื่อสร้างพื้นฐาน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ก่อนเน้นการพัฒนาในระดับสูงขึ้นไป

จุดเริ่มต้นแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
ผลจากการใช้แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงที่มีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายในเชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนไปถึงระบบการสื่อสารที่ทันสมัย การขยายปริมาณ การกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท และผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อยมาก
แต่ว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐที่เข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาด พ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ การรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมก็แตกสลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาถูกสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือน และสูญหายไป
สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต จะต้องเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้ ความมีอิสระในการกำหนดชะตาชีวิต ความสามารถในการควบคุม และจัดการปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทย และสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่ และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์ และยืนยันปรากฎการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักความคิดที่จะดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำชีวิตไปสู่ความสมดุลมั่นคง และยั่งยืน คล้ายกับเป็นการวางรากฐานของตัวอาคาร เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อย และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต
เงื่อนไขของการตัดสินใจ และดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในการปฏิบัติ
2. เงื่อนไขคุณธรรม ประกอบด้วย การมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติก่อน ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบรู้ที่เหมาะสม สามารถดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยกับเศรษฐกิจพอเพียง
• เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นให้ผู้ผลิต หรือผู้บริโภค ลดการพึ่งพา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง และลดภาวะการเสี่ยงจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• เศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้หมายความถึงการจำกัดค่าใช้จ่ายจนเกินสมควร หากแต่อาจฟุ่มเฟือยได้เป็นครั้งคราวตามอัตภาพ แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศมักใช้จ่ายเกินตัวเกินฐานะที่หามาได้
• เศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจได้ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เศรษฐกิจของประเทศจึงควรเน้นที่เศรษฐกิจการเกษตร เน้นความมั่นคงทางอาหาร เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แล้วจึงจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ช่วยลดความเสี่ยง หรือความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้
• เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ทุกภาคของเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ภาคการเงิน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม
การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริพอเพียง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเข้าใจถึงสภาพสังคมไทย ดังนั้น เมื่อได้พระราชทานแนวพระราชดำริ หรือพระบรมราโชวาทในด้านต่าง ๆ จะทรงคำนึงถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมของประชาชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในทางปฏิบัติ
แนวพระราชดำริในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียง
1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต
2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต
3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง
4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ
5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา
“...ฉันพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง
ความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง
คือทำจากรายได้ 200-300 บาท
ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท
คนชอบเอาคำพูดของฉัน
เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ
เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency
มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด
ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy
เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู
ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู
เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน
ในหมู่บ้านไกล ๆ ที่ฉันไป
เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า
แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย
เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่
และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”
(พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล 17 มกราคม 2544)
ทฤษฎีใหม่
ทฤษฎีใหม่ คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงที่เด่นชัดที่สุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติ และปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตรให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้ โดยไม่เดือดร้อน และยากลำบากนัก
หลักการและแนวทางสำคัญ
1. เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำนองเดียวกับการ "ลงแขก" แบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานด้วย
2. เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาประมาณ 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
3. ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกได้ตลอดปี ทั้งนี้ ได้พระราชท่านพระราชดำริเป็นแนวทางว่าต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ ฉะนั้น เมื่อทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่ หรือไม้ผลอีก 5 ไร่ (รวมเป็น 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
ดังนั้น หากตั้งสมมติฐานว่า มีพื้นที่ 5 ไร่
ก็จะสามารถกำหนดสูตรคร่าว ๆ ว่า
แต่ละแปลง ต้องประกอบด้วย
นาข้าว 5 ไร่
พืชไร่ พืชสวน 5 ไร่
สระน้ำ 3 ไร่ ขุดลึก 4 เมตร จุน้ำได้ประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร
ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอที่จะสำรองไว้ใข้ยามฤดูแล้ง
ที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ 2 ไร่
รวมทั้งหมด 15 ไร่
แต่ทั้งนี้ ขนาดของสระเก็บน้ำขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ และสภาพแวดล้อม ดังนี้
- ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรอาศัยน้ำฝน สระน้ำควรมีลักษณะลึก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำระเหยได้มากเกินไป ซึ่งจะทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี
- ถ้าเป็นพื้นที่ทำการเกษตรในเขตชลประทาน สระน้ำอาจมีลักษณะลึก หรือตื้นและแคบ หรือกว้างก็ได้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะสามารถมีน้ำมาเติมอยู่เรื่อย
การมีสระเก็บน้ำก็เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างสม่ำเสมอทั้งปี (ทรงเรียกว่า Regulator หมายถึงการควบคุมให้ดี มีระบบน้ำหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตร์ได้โดยตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าแล้ง และระยะฝนทิ้งช่วง แต่มิได้หมายความว่า เกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เพราะหากน้ำในสระเก็บน้ำไม่พอในกรณีมีเขื่อนอยู่บริเวณใกล้เคียงก็อาจจะต้องสูบน้ำมาจากเขื่อน ซึ่งจะทำให้น้ำในเขื่อนหมดได้ แต่เกษตรกรควรทำนาในหน้าฝน และเมื่อถึงฤดูแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงให้เกษตรกรใช้น้ำที่เก็บตุนนั้น ให้เกิดประโยชน์ทางการเกษตรอย่างสูงสุด โดยพิจารณาปลูกพืชให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อจะได้มีผลผลิตอื่น ๆ ไว้บริโภค และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี
4. การจัดแบ่งแปลงที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราการถือครองที่ดินถัวเฉลี่ยครัวเรือนละ 15 ไร่ อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรมีพื้นที่ถือครองน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ ก็สามารถใช้อัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นเกณฑ์ปรับใช้ได้ กล่าวคือ

ร้อยละ 30 ส่วนแรก
ขุดสระน้ำ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฯลฯ ได้ด้วย) บนสระอาจสร้างเล้าไก่ และบนขอบสระน้ำอาจปลูกไม้ยืนต้นที่ไม่ใช้น้ำมากโดยรอบได้
ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง
ปลูกข้าวเพื่อใช้บริโภคให้เพียงพอตลอดปี
ร้อยละ 30 ส่วนที่สาม
ปลูกพืชไร่ พืชสวน (ไม้ผล ไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอยไม้เพื่อเป็นเชื้อฟื้น ไม้สร้างบ้าน พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร เป็นต้น)
ร้อยละ 10 สุดท้าย
เป็นที่อยู่อาศัย และอื่น ๆ (ทางเดิน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น)
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวเป็นสูตร หรือหลักการโดยประมาณเท่านั้นสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ดินปริมาณน้ำฝน และสภาพแวดล้อม เช่น ในกรณีภาคใต้ที่มีฝนตกชุก หรือพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำมาเติมสระได้ต่อเนื่อง ก็อาจลดขนาดของบ่อ หรือสระเก็บน้ำให้เล็กลงเพื่อเก็บพื้นที่ไว้ใช้ประโชน์อื่นต่อไปได้
5. การดำเนินการตามทฤษฎีใหม่ มีปัจจัยประกอบหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น เกษตรกรควรขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ด้วย และที่สำคัญ คือ ราคาการลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดสระน้ำ เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากส่วนราชการ มูลนิธิ และเอกชน
6. ในระหว่างการขุดสระน้ำ จะมีดินที่ถูกขุดขึ้นมาจำนวนมาก หน้าดินซึ่งเป็นดินดี ควรนำไปกองไว้ต่างหากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่าง ๆ ในภายหลังโดยนำมาเกลี่ยคลุมดินชั้นล่างที่เป็นดินไม่ดี หรืออาจนำมาถมทำขอบสระน้ำ หรือยกร่องสำหรับปลูกไม้ผลก็จะได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง
ตัวอย่างพืชที่ควรปลูก และสัตว์ที่ควรเลี้ยง
ไม้ผลและผักยืนต้น :
มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน ละมุด ส้ม กล้วย น้อยหน่า มะละกอ กระท้อน แคบ้าน มะรุม สะเดา ขี้เหล็ก กระถิน ฯลฯ
ผักล้มลุกและดอกไม้ :
มันเทศ เผือก ถั่วฝักยาว มะเขือ มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก และซ่อนกลิ่น เป็นต้น
เห็ด :
เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น
สมุนไพร และเครื่องเทศ :
หมาก พลู พริกไทย บุก บัวบก มะเกลือ ชุมเห็ด หญ้าแฝก และพืชผักบางชนิด เช่น กะเพรา โหระพา สะระแหน่ แมงลัก ตะไคร้ เป็นต้น
ไม้ใช้สอยและเชื้อเพลิง :
ไผ่ มะพร้าว ตาล กระถินณรงค์ มะขามเทศ สะแก ทองหลาง จามจุรี กระถิน สะเดา ขี้เหล็ก ประดู่ ชิงชัน และยางนา เป็นต้น
พืชไร่ :
ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย มันสำปะหลัง ละหุ่ง นุ่น เป็นต้น
พืชไร่หลายชนิดอาจเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตยังสดอยู่ และจำหน่ายเป็นพืชประเภทผักได้ และมีราคาดีกว่าเก็บเมื่อแก่ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วทุ่ม ถั่วมะแฮะ อ้อย และมันสำปะหลัง
พืชบำรุงดิน และพืชคลุมดิน :
ถั่วมะแฮะ ถั่วฮามาต้า โสนแอฟริกัน โสนพื้นเมือง ปอเทือง ถั่วพร้า ขี้เหล็ก กระถิน รวมทั้งถั่วเขียวและถั่วพุ่ม เป็นต้น เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ค่อยไถกลบลงไปเพื่อบำรุงดินได้
หมายเหตุ : พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง และการเลือกปลูกพืชควรเน้นพืชยืนต้นด้วย เพราะการดูแลรักษาในระยะหลังจะลดน้อยลง มีผลผลิตทยอยออกตลอดปี ควรเลือกพืชยืนต้นชนิดต่าง ๆ กัน ให้ความร่มเย็น และชุ่มชื้นกับที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อม และควรเลือกต้นไม้ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ เช่น ไม่ควรปลูกยูคาลิปตัสบริเวณขอบสระ ควรเป็นไม้ผลแทน เป็นต้น
สัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ได้แก่
สัตว์น้ำ :
ปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก
เพื่อเป็นอาหารเสริมประเภทโปรตีน และยังสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริมได้อีกด้วย ในบางพื้นที่สามารถเลี้ยงกบได้
สุกร หรือ ไก่
เลี้ยงบนขอบสระน้ำ ทั้งนี้มูลสุกรและไก่ สามารถนำมาเป็นอาหารปลา บางแห่งอาจเลี้ยงเป็ดได้
ประโยชน์ของทฤษฎีใหม่
1. ให้ประชาชนพออยู่พอกินสมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง"
2. ในหน้าแล้งมีน้ำน้อย ก็สามารถเอาน้ำที่เก็บไว้ในสระมาปลูกพืชผักต่าง ๆ ที่ใช้น้ำน้อยได้ โดยไม่ต้องเบียดเบียนชลประทาน
3. ในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลโดยมีน้ำดีตลอดปี ทฤษฎีใหม่นี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้โดยไม่เดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
4. ในกรณีที่เกิดอุทกภัย เกษตรกรสามารถที่จะฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง โดยทางราชการไม่ต้องช่วยเหลือมากนัก ซึ่งเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย
ทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์
ทฤษฎีใหม่ที่ดำเนินการโดยอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำฝน จะอยู่ในลักษณะ "หมิ่นเหม่" เพราะหากปีใดฝนน้อย น้ำอาจจะไม่เพียงพอ ฉะนั้น การที่จะทำให้ทฤษฎีใหม่สมบูรณ์ได้นั้น จำเป็นต้องมีสระเก็บกักน้ำที่มีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถโดยการมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเพิ่มเติมน้ำในสระเก็บกักน้ำให้เต็มอยู่เสมอ ดังเช่น กรณีของการทดลองที่โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเสนอวิธีการ ดังนี้
สระน้ำที่เกษตรกรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง เกษตรกรสามารถสูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระน้ำไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ซึ่งได้ทำระบบส่งน้ำเชื่อมต่อทางท่อลงมายังสระน้ำที่ได้ขุดไว้ในแต่ละแปลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดปี กรณีที่เกษตรกรใช้น้ำกันมาก อ่างห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้วิธีการผันน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ (อ่างใหญ่) ต่อลงมายังอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว (อ่างเล็ก) ก็จะช่วยให้มีปริมาณน้ำมาเติมในสระของเกษตรกรพอตลอดทั้งปีโดยไม่ต้องเสี่ยง
ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สามารถทำให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จากระบบส่งท่อเปิดผ่านไปตามแปลงไร่นาต่างๆ ถึง 3-5 เท่า เพราะยามหน้าฝน นอกจากจะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำแล้ว ยังมีน้ำในสระของราษฎรเก็บไว้พร้อมกันด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มอย่างมหาศาล น้ำในอ่างที่ต่อมาสู่สระจะทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำสำรอง คอยเติมเท่านั้นเอง
ความเสี่ยงที่เกษตรกร มักพบเป็นประจำ ประกอบด้วย
1. ความเสี่ยงด้านราคาสินค้าเกษตร
2. ความเสี่ยงในราคาและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตสมัยใหม่จากต่างประเทศ
3. ความเสี่ยงด้านน้ำ ฝนทิ้งช่วง ฝนแล้ง
4. ภัยธรรมชาติอื่น ๆ และโรคระบาด
5. ความเสี่ยงด้านแบบแผนการผลิต
- ความเสี่ยงด้านโรคและศัตรูพืช
- ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน
- ความเสี่ยงด้านหนี้สินและการสูญเสียที่ดิน
ทฤษฎีใหม่ จึงเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ความสำคัญของทฤษฎีใหม่
1. มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
2. มีการคำนวณโดยใช้หลักวิชาการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี
3. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบสำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยมีถึง 3 ขั้นตอน
ทฤษฎีใหม่..สู่การพัฒนาที่คุ้มค่า และยั่งยืน
ทฤษฎีใหม่ หรือ ทฤษฎีในการแก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง และภาวะขาดแคลนน้ำในการเกษตรกรรม โดยดำเนินการตามหลักแนวคิด การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้มีน้ำไว้ใช้ตลอดปี ซึ่งเป็นการอำนวยประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปอีกด้วย
ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น หรือทฤษฎีขั้นที่หนึ่ง
เกษตรกรเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย หรือแปลงขนาดเล็ก (ประมาณ 15 ไร่) ถือเป็นอัตราถือครองพื้นที่โดยเฉลี่ยของเกษตรกรโดยทั่วไป
หลักสำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีความพอเพียง
สามารถเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency)
โดยแบ่งตามสัดส่วน 30-30-30-10 ซึ่งหมายถึง
พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง
ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝน
และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์ และพืชน้ำต่าง ๆ
พื้นที่ส่วนที่สอง
ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน
สำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่าย และสามารถพึ่งพาตนเองได้
พื้นที่ส่วนที่สาม
ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืช สมุนไพร ฯลฯ
เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย
พื้นที่ส่วนที่สี่
ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง และโรงเรือนอื่น ๆ
เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว
เกษตรกรจะพัฒนาตนเองไปสู่ขั้นพออยู่พอกิน เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สอง และขั้นที่สาม ต่อไปตามลำดับดังนี้
“...อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น
แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้...”
(พระราชดำรัส 3 กันยายน 2535)
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการ และได้ปฏิบัติในที่ดินของตนเองจนได้ผลแล้ว ต้องเริ่มต่อในขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้านต่าง ๆ
(1) การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ)
เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย น้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
(2) การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต)
เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว การเตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(3) ความเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ)
ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(4) สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้)
แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพ และบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
(5) การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา)
ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(6) สังคม และศาสนา
ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว กิจกรรมทั้งหมดจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นก็มีความสำคัญ
ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ การติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร บริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งฝ่ายเกษตรกร และฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
(1) เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
(2) ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกร และนำมาสีเอง)
(3) เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภค บริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (ร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง)
(4) ธนาคารกับบริษัทสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น)

ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับแล้วว่า สามารถนำไปปฏิบัติและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงต่อการเกษตร ด้วยการบริหารจัดการที่ดินและน้ำได้อย่างเหมาะสมและสมดุล ทั้งนี้ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเห็นถึงปัญหาและทรงหาวิธีแก้ไขเพื่อพสกนิกรของพระองค์ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทยจึงเกิดขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงมีพระเมตตาและปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย
คำที่ควรรู้
*อัตภาพ : ความเหมาะสม สมฐานะ
*ทฤษฎีใหม่ : เป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด
*หมิ่นเหม่ : ล่อแหลม, ที่เข้าใกล้สถานที่ หรือสถานการณ์อันตรายอย่างยิ่ง