ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ด้วยพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรของประเทศไทย ทรงวางรากฐานเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน และทรงให้ความสำคัญในเรื่องของเมล็ดพันธุ์ และรับสั่งกับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า
“พันธุ์พืชทุกพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ด เป็นของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ดีที่สุด”โดยโครงการแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักและพันธุ์ข้าวสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไปและราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯ ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552
พระประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป็นโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ และหม่อมจำรัส จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เมื่อทรงศึกษาวิชาการชั้นต้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานทุนเล่าเรียนให้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปีพุทธศักราช 2470 ได้ทรงเข้าเรียนชั้นมัธยมที่มหาวิทยาลัยเพดดี เมื่อจบแล้วเสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ จนสำเร็จชั้นจูเนียร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ย้ายมาเรียนวิชาการเกษตรเกี่ยวกับพืชเมืองร้อนที่ประเทศฟิลิปปินส์
ในมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์หลังจากทรงรับปริญญาทางด้านการเกษตรแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังประเทศไทย เพื่อเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในกระทรวงเกษตราธิการ ตำแหน่งเกษตรโทผู้ช่วย ประจำกองอุตสาหกรรมพืชพรรณ กรมเกษตรและการประมง พร้อมกับทรงเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และโรงเรียนการเรือนด้วย จากนั้นทรงได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลได้เสด็จไปศึกษาปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อทรงจบการศึกษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาเข้ารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการตามเดิม ในตำแหน่งนักเกษตรโท กองการทดลองและส่งเสริม และทรงได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นโดยลำดับ เป็นหัวหน้าแผนกพืชไร่ นักเกษตรเอก รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบดีกรมการข้าว อธิบดีกรมกสิกรรม คณบดีคณะเกษตร อธิการบดีและนายกสมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างปีพุทธศักราช 2516 ถึง 2517 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่คราวหนึ่ง
เมื่อทรงพ้นตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2518 ทรงเป็นองคมนตรีที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทรงเป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 6 ศูนย์ทั่วประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา อันเป็นมูลนิธิที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้
หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นนักบริหาร นักวิชาการ และนักปฏิบัติการด้านการเกษตรที่ก้าวหน้าและปรีชาสามารถ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมด้านเกษตรกรรมของประเทศ ทรงวางรากฐานเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม พัฒนาสู่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน ทรงมีบทบาทสำคัญในการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนโครงการวิจัยด้านพืช ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเกษตรกรรมของประเทศชาติอย่างมหาศาล
นอกจากนั้นยังทรงริเริ่มงานเกษตรอุตสาหกรรม งานด้านพืชเมืองหนาว และการผลิตอาหารสำเร็จรูป ทำให้สินค้าทางการเกษตรเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ทรงสนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาคหกรรมศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งจัดตั้งสถานีวิทยุการเกษตรให้เป็นที่กระจายข่าวสารด้านวิชาการ ทรงได้รับเกียรติและการยกย่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นพระยาแรกนาในพระราชพิธีแรกนาขวัญเป็นพระองค์แรก ทรงเป็นผู้แทนถาวรของประเทศไทยประจำองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เป็นอภิมนตรีชุดแรกของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวสาลีระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษาพิเศษของมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ และได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปีพุทธศักราช 2512 มงคลบั้นปลายพระชนม์ชีพ หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงถึงแก่ชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 เมื่อพระชนม์ 84 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชดำริเห็นว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงปฏิบัติงานที่ก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน สมควรได้รับการยกย่องสถาปนาอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ให้สูงขึ้นสมกับความชอบและความดี ตามแบบอย่างอันมีมาแต่กาลก่อน จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ วันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2537
การดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้มีการจัดตั้งใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สระบุรี และสุรินทร์ โดยดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน
จากที่ประเทศไทยได้เคยประสบภัยพิบัติหลายครั้งหลายครา ดังเช่น เกิดดินโคลนถล่ม เกิดอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนของราษฎรและพื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพันธุ์ผักแก่ผู้ประสบภัยให้นำไปปลูกในครัวเรือน แต่ทรงประสบปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชที่จะพระราชทานได้ทันท่วงที จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริขึ้น เพื่อผลิต สะสม และสำรองเมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน ไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรประสบภัยพิบัติ
เมล็ดพันธุ์ที่ผลิต ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ฟักแฟง แคบ้านดอกขาว ถั่วพู มะเขือเปราะ บวบ กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว ถั่วฝักยาว น้ำเต้า ผักบุ้ง ฟักทอง มะเขือขาวกรอบ ถั่วแปบ มะระ โหระพา กะเพราะ แมงลัก และพริกขี้หนู ในการดำเนินงานผลิตเมล็ดพันธุ์ผักนี้ มีหน่วยงานภาครัฐที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี 2557 ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 13 สายพันธุ์ ต่อมาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่ จำนวน 6 สายพันธุ์ โดยผ่านการทดสอบตามหลักวิชาการ เพื่อให้เมล็ดพันธุ์มีความคงที่ทางพันธุกรรม เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดทำพันธุ์ต่อได้จนเกิดเป็นความยั่งยืน อาทิ
• “ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธรเบอร์ 1”
เป็นถั่วฝักยาวสายพันธุ์ใหม่ ที่นอกจากจะมีสีม่วงแล้ว ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีลักษณะและรสชาติที่โดดเด่น
• "ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ เบอร์ 1"
เป็นถั่วฝักยาวลายเสือ สีเขียวสลับม่วง มีเอกลักษณ์ คือ ฝักสั้น เนื้อแน่น และมีสีเขียวอ่อนลายสีแดง
• “พริกขี้หนูปู่เมธ เบอร์ 1”
เป็นพริกขี้หนูพุ่มเตี้ย ผลชี้ตั้งขึ้น ผลดกติดกันเป็นช่อ เหมาะสำหรับปลูกใส่กระถาง
โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริชักชวนราษฎรเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ส่งเสริมให้ปลูกพืชผักในบ้านของราษฎรกันเอง โดยพระราชทานเมล็ดพันธุ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริแก่ราษฎรให้ปลูกกินเองในครัวเรือน หากเหลือกินแล้วก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมทั้งสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อได้
โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” พยายามสร้างให้ชุมชนเกิดความสนใจที่จะปลูกผักเพื่อบริโภคเอง ส่งเสริมการปลูกผักพื้นบ้านด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ดีจากต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง กินอร่อย สร้างความรู้สึกว่าการปลูกผักสวนครัวไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกแล้วครอบครัวจะมีผักที่ปลอดภัยหมุนเวียนกินตลอดปี นับเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จะคอยออกแนะนำราษฎรที่เข้าเป็นสมาชิกในเรื่องการปลูกพืชผักด้วยวิธีที่ปลอดภัย เชื่อมโยงก่อความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่ชุมชน มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันพืชผักและเมล็ดพันธุ์กัน เป็นการกระจายพันธุ์พืชสู่ชุมชน
โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ได้ขยายผลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ปลูกผักบนพื้นที่ว่างในโรงพยาบาล ให้เจ้าหน้าที่และราษฎรที่มาโรงพยาบาลเก็บผักกลับไปทำอาหารที่บ้านได้ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ ปลูกผักเข้าโรงอาหาร จำหน่ายผู้ปกครองและครู เป็นการสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักสวนครัวและปลูกฝังการเก็บเมล็ดพันธุ์ผักไว้ปลูกต่อด้วย
โครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน”
จากโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ที่ได้เริ่มโครงการนำร่องร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ทำให้ราษฎรมีพืชผักพื้นบ้านเพื่อบริโภคในครัวเรือนนั้น ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลโป่งงาม ได้ขอทำโครงการขยายโดยใช้ชื่อว่า “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” ขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะปลูกไม้ยืนต้นที่บริโภคได้ตามริมถนนในหมู่บ้าน เพื่อให้คนทั้งในหมู่บ้านและคนทั่วไปสามารถเก็บใบและผลไปประกอบอาหารรับประทานได้ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริจึงได้จัดหากล้าต้นมะรุม 1,400 กล้า กล้าต้นเสี้ยว 400 กล้า กล้าต้นขี้เหล็ก 400 กล้า และเมล็ดแค 6,500 เมล็ด สนับสนุนโครงการดังกล่าว
ปัจจุบัน โครงการ “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” ได้รับพระราชทานชื่อใหม่เป็นโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และขยายพื้นที่ออกไปควบคู่กับโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ทำให้ชุมชนมีพืชผักที่เป็นอาหารให้ทั้งผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านและผู้ที่สัญจรไปมา นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริยังได้เพิ่มกล้าไม้ผล อันเป็นผลสืบเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีไม้ผลไว้แบ่งปันกันบริโภค โดยได้พระราชทานกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ชมพู่ม่าเหมี่ยว ฝรั่ง มะกอก มะขาม น้อยหน่า ให้ชุมชนนำไปปลูกทั้งในบ้าน ตามริมถนนในหมู่บ้าน และที่สาธารณะในหมู่บ้าน
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย ขยายการผลิตเมล็ดพันธุ์เข้าสู่ชุมชน ให้ราษฎรในพื้นที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านพันธุ์ดี สะสมสำรองไว้เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยและโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ การปลูกผักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานในโครงการนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ปลูกเป็นแปลง แต่ใช้พื้นที่บริเวณบ้าน ปลูกผักแบบธรรมชาติ อาจปลูกริมรั้ว ปลูกผักบนรั้ว ปล่อยขึ้นต้นไม้หน้าบ้าน ทำระแนงพาดรั้วให้ผักเลื้อยบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากการชักชวนผู้ใหญ่บ้านให้เป็นผู้เริ่มผลิตเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้านให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริก่อน แล้วจึงค่อยส่งเสริมให้ลูกบ้านเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”
โครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน”
ในปีพุทธศักราช 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการผลิตพันธุ์ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสำรองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ และต่อมาในปี 2556 มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ขึ้น เพื่อผลิตข้าวพันธุ์หอมมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทาน
ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ‘เพื่อนช่วยเพื่อน’ ของมูลนิธิชัยพัฒนาทุกกลุ่มจะต้องตั้งคณะกรรมการบริหารงานภายในกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ดูแลตั้งแต่เตรียมแปลงนาจนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาจะมีการตรวจแปลงนาและตรวจสอบพันธุ์ข้าว โดยมีกรรมการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประธานกลุ่ม สมาชิกกลุ่ม และเจ้าของแปลงนา ร่วมกันตรวจสอบ
ปัจจุบันมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน ใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดสุรินทร์ มีกลุ่มเกษตรกร 11 กลุ่ม ใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอจอมพระ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอชุมพลบุรี อำเภอสำโรงทาบ และอำเภอสังขะ จังหวัดบุรีรัมย์ มีกลุ่มเกษตรกรในอำเภอลำปลายมาศ จำนวน 1 กลุ่ม และจังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรในอำเภอราษีไศล จำนวน 1 ราย
โครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP
เนื่องจากราษฎรที่เข้าร่วมโครงการของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีพื้นที่ปลูกผักเป็นแปลงเล็ก ๆ ภายในบ้าน จึงมีปัญหาในการขอ GAP ที่การตรวจสอบแปลงพืชของกรมวิชาการเกษตรจะต้องตรวจเป็นแปลงใหญ่ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จึงรวบรวมกลุ่มราษฎรเพื่อให้แต่ละกลุ่มมีพื้นที่ปลูกพืชมากพอที่กรมวิชาการเกษตรจะเข้าทำการตรวจสอบได้ จากการรวมกลุ่มนี้ทำให้ราษฎรในกลุ่มจะต้องมีความสามัคคี ดูแลกันและกัน ปลูกพืชให้ปลอดภัยตามมาตรฐาน เพราะหากมีบ้านใดไม่ผ่านการตรวจสอบจะทำให้ทุกบ้านในกลุ่มไม่ผ่านมาตรฐานทั้งกลุ่ม การสนับสนุนให้ราษฎรปลูกผักให้เข้ามาตรฐาน GAP เป็นการสนับสนุนให้ราษฎรปฏิบัติตามข้อกำหนดในการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และมีคุณภาพที่ดี สามารถนำมาจำหน่ายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ นำมาขายที่ร้านจันกะผัก อันเป็นร้านขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ รวมถึงร้านโกลเด้น เพลซ จำนวน 4 สาขา, กูร์เมต์ มาร์เก็ต จำนวน 5 สาขา และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 6 สาขา เป็นการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
โครงการรวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม
ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยโครงการ “รวมกันสู้ อยู่อย่างพร้อม” ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ขับเคลื่อนงานส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว ในพื้นที่ 4 หมู่บ้านของตำบลพุคา โดยมีต้นแบบจากโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ชุมชนร่วมกันจัดพื้นที่สำหรับให้ชาวบ้านอพยพมาอยู่ยามน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นด้วยการสร้างโรงสีข้าวขนาดเล็ก ยุ้งข้าวชุมชน โรงผลิตน้ำดื่ม แปลงผัก และบ่อเพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา หากเกิดน้ำท่วมชาวบ้านก็จะมีข้าวปลาอาหาร และน้ำดื่มสะอาดไว้กินและใช้อย่างไม่ลำบาก
ชาวบ้านตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นอีกหนึ่งตำบลที่ประสบปัญหาอุทกภัยต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม แต่เมื่อมูลนิธิชัยพัฒนาได้นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาวางแผนและปรับใช้อย่างเป็นระบบ ทำให้ตำบลพุคาเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติได้ นอกจากนี้สมาชิกตำบลโก่งธนูซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ได้เป็นพี่เลี้ยงให้แก่กลุ่มผู้นำตำบลพุคา ในการจัดตั้งโครงการบริหารจัดการขยะและจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อชักชวนให้ประชาชนในตำบลเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางด้วย โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวไม่ต้องประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ร้านจันกะผัก ณ ศูนย์จักรพันธ์
จักรพันธ์ – จันกะผัก
ร้าน “จันกะผัก” เป็นร้านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตั้งขึ้น เพื่อจำหน่ายพืชผักที่เหลือจากการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ จำหน่ายสลัดและส้มตำซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ผลิตเอง ขายกาแฟและของที่ระลึก ขณะเดียวกันยังมีแผนงานในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนท้องถิ่นโดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาจำหน่ายในร้านในระยะต่อไป
โดยรายได้ทั้งหมดจะกลับคืนสู่แผ่นดินในรูปของ “การพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่นำมาซึ่งความเจริญ ความสุขสมบูรณ์ สู่ประชาชนและแผ่นดินไทย”