“ที่ที่น้ำท่วมนี่หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา
มีการระบายน้ำออกไป ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในเรื่องการทำมาหากินอย่างมหาศาล”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ดินเปรี้ยว
ทฤษฎี “แกล้งดิน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้บ่อยครั้ง ทำให้ทรงทราบว่า พื้นที่แถบนี้มีความเดือดร้อนโดยเฉพาะการทำมาหากินที่ฝืดเคืองในหลายจังหวัด จึงได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เป็นครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2516 และได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับแรมประมาณเดือนกันยายนเกือบทุกปี
ในปี พ.ศ. 2517 ราษฎรหลายแห่งในจังหวัดนราธิวาส ได้กราบบังคมทูลร้องทุกข์ถึงความเดือดร้อนที่ต้องประสบปัญหาในฤดูฝนว่าเกิดน้ำท่วมไหลบ่าจากป่าพรุ จนไม่อาจทำมาหากินได้ อีกทั้งยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากขาดแคลนที่ทำกิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยเหลือให้ราษฎรพ้นจากความทุกข์ยากนี้
พระราชดำริ...เพื่อราษฎร พระราชดำริขั้นต้นเริ่มต้นด้วยการให้ทุกส่วนราชการ มาร่วมกันพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังอยู่ตลอดทั้งปี ให้กลับมาเกิดประโยชน์ในทางเกษตรกรรมมากที่สุด โดยทรงให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อระบบนิเวศของป่าพรุเป็นหลักสำคัญ
ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทำให้ทรงพบว่าหลังจากมีการชักน้ำออกจากพื้นที่พรุ เพื่อจะได้มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร และบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ดินพื้นที่พรุได้แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เพราะว่ามีซากพืชที่เน่าเปื่อยอยู่ด้านบน ดินจึงมีลักษณะเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกไม่ได้ และช่วงระดับความลึกดินประมาณ 1-2 เมตร ดินเลนมีลักษณะเป็นสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถันอยู่มาก เมื่อดินแห้งกรดกำมะถันจะทำให้ดินแปรสภาพเป็นกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ทำให้การพัฒนาดินในพื้นที่ป่าพรุกลายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะเมื่อน้ำออกจากดินพรุเมื่อใด อากาศก็จะลงไปทำปฏิกิริยาในดินส่งผลให้ดินเป็นกรด เกิดเป็นดินเปรี้ยว
ถ้าน้ำท่วมปฏิกิริยาจะไม่เกิดกับดินพรุ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้สามารถนำพื้นที่พรุมาใช้ประโยชน์และทำกินได้ จึงต้องทำให้พื้นที่แห้ง ด้วยการเอาชนะความเปรี้ยวของดิน
ศาสตร์พระราชา...สู่การปรับปรุงดิน พระราชดำริ
“แกล้งดิน” ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2527 โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ว่า
“ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้ง และศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืชที่ใช้ทำการทดลองควรเป็นข้าว”“...ต่อไปดินจะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว
โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้แล้ว…”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โครงการแกล้งดิน จึงมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เป็นหน่วยงานดำเนินการสนองพระราชดำริในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดินกำมะถัน
แนวทางพระราชดำริ..สู่การพัฒนาที่ใช้ได้จริง วิธี
“แกล้งดินให้เปรี้ยว” คือการทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกันไป เพื่อไปเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินที่จะช่วยกระตุ้นให้สารประกอบกำมะถันที่เรียกว่า “สารไพไรท์” ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศให้ปล่อยกำมะถันออกมาจนดินเป็นกรดจัด แล้ว
“แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด” จนไม่สามารถปลูกหรือทำให้พืชเจริญงอกงามออกผลผลิตได้ แล้วจึงหาวิธีการปรับปรุงดินให้สามารถปลูกพืชได้อีกครั้ง ซึ่งวิธีการแก้ไขดินให้เปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ มีขั้นตอนดังนี้
1. แก้ไขโดยวิธีการควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรท์อยู่ เพื่อไม่ให้สารประกอบไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน หรือถูกออกซิไดซ์ โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.1) วางระบบการระบายน้ำทั่วทั้งพื้นที่
1.2) ระบายน้ำเฉพาะส่วนบนออกเพื่อชะล้างกรด
1.3) รัษาระดับน้ำในคูระบายน้ำให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 เมตรจากผิวดินตลอดทั้งปี
หากจะให้การดำเนินการข้างต้นสมบูรณ์ จำเป็นต้องมีการวางระบบการระบายน้ำควบคู่ไปกับการจัดระบบชลประทานที่เหมาะสมด้วย กล่าวคือ ระบบการระบายน้ำจะช่วยป้องกันมิให้น้ำท่วม และช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ ระบบชลประทานจะช่วยส่งเสริมให้น้ำใช้ชะล้างความเป็นกรดและรักษาระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ในระดับที่ต้องการ
2. วิธีปรับปรุงดินอันเนื่องมาจากพระราชดำริ “แกล้งดิน” ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ 3 วิธี ตามความเหมาะสมของสภาพดิน
วิธีการที่ 1 : - ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดเพื่อให้ค่า pH เพิ่มขึ้น ด้วยการปล่อยน้ำท่วมขังแปลง แล้วค่อยระบายน้ำออก 2-3 ครั้ง
- ทิ้งช่วงการระบายน้ำ ประมาณ 1-2 สัปดาห์/ต่อครั้ง
- ดินจะเปรี้ยวจัดในช่วงดินแห้งหรือฤดูแล้ง ดังนั้น การชะล้างควรเริ่มในฤดูฝนเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำชลประทาน
- การใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด ต้องกระทำต่อเนื่อง และต้องหวังผลในระยะยาวไม่ใช่กระทำเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น
- วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดแต่จำเป็นต้องมีน้ำมากพอที่จะใช้ซะล้างดินควบคู่ไปกับการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีไพไรท์มาก
วิธีการนี้เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ้ยไนโตรเจน และฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้
วิธีการที่ 2 : การแก้ไขดินเปรี้ยวด้วยการใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน ดังขั้นตอนต่อไปนี้
- ใช้วัสดุปูนที่หาได้ง่ายในท้องที่ เช่น ปูนมาร์ล (Marl) สำหรับภาคกลาง หรือปูนฝุ่น (Lime dust) สำหรับภาคใต้ หว่านให้ทั่ว 1-4 ตันต่อไร่ แล้วไถแปรหรือพลิกกลบดิน
- ปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน
วิธีการที่ 3 : การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน วิธีนี้เป็นวิธีที่สมบูรณ์ที่สุด และได้ผลมากในพื้นที่ดินเป็นกรดรุนแรงที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เป็นเวลานาน
3. การปรับสภาพพื้นที่ พื้นที่ดินเปรี้ยวมีสภาพราบลุ่ม การะบายน้ำออกจากพื้นที่จึงทำได้ลำบาก การปรับสภาพพื้นที่จึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหา ด้วย 2 วิธี คือ
วิธีการที่ 1 : การปรับระดับผิวหน้าดิน - ปรับหน้าดินให้มีความลาดเอียงพอที่จะให้น้ำไหลออกสู่คลองระบายน้ำได้
- ตกแต่งแปลงนาหรือกระทงนาใหม่ ให้สามารถกักเก็บน้ำและระบายน้ำออกได้
วิธีการที่ 2 : การยกร่องปลูกพืช เพื่อใช้สำหรับปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้น ที่ตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง ด้วยการใช้แหล่งน้ำชลประทานขังในร่อง และถ่ายเทน้ำได้เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด
วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร 1. เพื่อปลูกข้าว
2. เพื่อปลูกพืชล้มลุก
3. เพื่อปลูกไม้ผล
ดินเค็ม ดินเค็ม คือ ดินที่มีเกลือที่ละลายได้ในสารละลายดินปริมาณมาก จนกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช การสังเกตโดยดูจากคราบเกลือจะเห็นคราบเกลือเป็นหย่อม ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง พืชมักจะแสดงอาการใบไหม้ ลำต้นแคระแกร็น เนื่องจากพืชจะขาดน้ำ ความเป็นพิษจากธาตุโซเดียมและคลอไรด์ จนเกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร ดินเค็มมีค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายที่สกัดจากดินที่อิ่มตัวด้วยน้ำมากกว่า 2 เดซิซีเมนต์ต่อเมตร ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ปัญหาดินเค็มนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการเกษตรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ปัญหาดินเค็มในประเทศไทยพบทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และพื้นที่ชายทะเล
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินเค็ม โดยใช้ระบบชลประทานในการล้างเกลือที่ตกค้างบริเวณผิวดินและบริเวณลำห้วย เพื่อให้น้ำในลำห้วยเจือจางสามารถนำมาใช้สอยได้ตามปกติ
ตัวอย่างโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีการทำนาเกลือบริเวณลำห้วย จึงมีพระราชดำริให้ขุดลอกลำห้วยบ่อแดง พร้อมยกคันดินให้สูง เพื่อป้องกันน้ำเกลือไหลลงสู่ลำห้วยตกค้าง และเกษตรกรที่ประกอบอาชีพทำนาข้าวสามารถใช้น้ำในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ได้ ผู้ประกอบการทำนาเกลือทั้งหลายจะต้องจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งที่บริเวณลานตากเกลือ ขุดเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่สำหรับรองรับน้ำเค็มที่ปล่อยทิ้งจากลานตากเกลือทั้งหมด เก็บไว้ในสระเพื่อรอการระเหยหรือไหลลงในดินโดยบ่อบาดาลเล็กๆ ที่ขุดขึ้น เพื่อระบายน้ำลงสู่ชั้นดินเค็มใต้ดินที่สูบขึ้นมา ขนาดของสระน้ำดังกล่าวจะมีขนาดและความลึกเท่าใดต้องกำหนดให้สัมพันธ์กับปริมาณน้ำทิ้งจากลานตากเกลือ และความสามารถของน้ำในสระที่ไหลลงไปใต้ดิน ทั้งนี้ ให้มีความสมดุลพอดีกัน โดยไม่ทำให้น้ำเค็มไหลล้นไปยังลำห้วยข้างๆ อีกต่อไป ดังนั้น ระบบการทำนาเกลือสินเธาว์ที่ได้มาตรฐานตามแนวพระราชดำริจึงมีบ่อรับน้ำทิ้งจากลานตากเกลือและการกำจัดโดยการอัดน้ำเหล่านี้สู่ชั้นเกลือที่สูบขึ้นมา ซึ่งสามารถป้องกันน้ำเค็มที่ระบายจากลานตากเกลือมิให้ไหลลงในร่องน้ำและพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลักษณะของดินเค็ม ลักษณะของพื้นที่ดินเค็มที่สังเกตได้
1) เป็นบริเวณที่ไม่ห่างจากฝั่งทะเลมากนัก และมีน้ำทะเลขึ้นท่วมถึงหรือเคยเป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน
2) บริเวณพื้นที่ดินเค็มจะมีพืชที่สามารถทนเค็มได้ดีขึ้นอยู่ ซึ่งเราสามารถบอกได้ว่าถ้ามีพืชพรรณชนิดนี้ขึ้นอยู่ในบริเวณพื้นที่นั้น ๆ จะเป็นพื้นที่ดินเค็ม เช่น ชะคราม จาก แสม โกงกาง ลำแพน ลำพูน เหงือกปลาหมอ หนามแดง หญ้าทนเค็มบางชนิด ฯลฯ
3) บนผิวดินมักพบคราบเกลือสีขาวปรากฏอยู่บนผิวดินเป็นหย่อม ๆ หรืออาจพบเนื้อดินฟุ้งกระจาย เม็ดดินแตกสลายเมื่อเปียกน้ำจะพองตัว เนื่องจากดินมีเกลือโซเดียมคาร์บอเนตสูง บางแห่งเป็นดินแน่นทึบไม่มีพืชขึ้นอยู่เลย
4) พืชที่ปลูกบริเวณนั้นตายเป็นหย่อมๆ อาการของพืชจะปรากฏให้เห็นซึ่งเกิดจากผลของความเค็ม เช่น ขอบใบจะไหม้ พืชแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
5) ชิมดินและน้ำ เมื่อมีรสกร่อยแสดงว่ามีอันตรายต่อพืช หรือน้ำเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาล
สภาพปัญหาของดิน สภาพปัญหาของดินเค็มมีผลกระทบต่อการปลูกพืช คือ เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารมีความเป็นพิษของธาตุโซเดียม และคลอไรด์ พืชที่ปลูกไม่เจริญเติบโต ลำต้นแคระแกร็น ให้ผลผลิตต่ำ
การใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบัน ดินเค็มชายทะเล ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ยังคงสภาพเป็นป่าเลน บางพื้นที่เปลี่ยนเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดินเค็มบกส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 มีการใช้ที่ดินเป็นนาข้าว แต่มักให้ผลผลิตต่ำ บางพื้นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ซึ่งอาจเนื่องมาจากดินเป็นดินเค็มจัด จึงยังคงสภาพเป็นพื้นที่ลุ่ม ทุ่งหญ้า ไม้ละเมาะ และปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำเป็นนาเกลือสินเธาว์
แนวทางการจัดการดินเค็ม1. การจัดการแก้ไขฟื้นฟูดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การฟื้นฟูดินเค็มต้องพิจารณาถึงสาเหตุและลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ แล้วจึงดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ดังนี้
- การป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม ควบคุมไม่ให้เกิดพื้นที่ดินเค็มเพิ่มขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น
- การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อยและดินเค็มปานกลาง จะต้องมีเทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้พันธุ์พืชทนเค็ม การเขตกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่
- การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็มจัด ปลูกหญ้าชอบเกลือและต้นไม้ทนเค็มจัด พืชเหล่านี้มีความสามารถพิเศษปรับตัวเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ว่างเปล่ามีคราบเกลือได้ และยังใช้ประโยชน์เป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์และเป็นฟืนได้ และทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น
เกษตรกรพื้นที่ดินเค็มส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีทุนและความรู้พอที่จะจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนขั้นพื้นฐานในการปรับรูปแบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับรูปแบบแปลงนา ที่ประกอบด้วยระบบการชะล้างเกลือ ร่วมกับการทำคันคูเพื่อระบายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน
วิธีการที่ช่วยลดระดับน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่ม ที่มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าบนพื้นที่เนินรับน้ำ คือการปลูกต้นไม้โตเร็วคืนสู่เนินพื้นที่รับน้ำนั้น ให้ต้นไม้เป็นปั๊มธรรมชาติใช้น้ำฝนที่ตกบนเนิน ไม่ให้มีน้ำส่วนเกินไหลมาเพิ่มเติมน้ำใต้ดินเค็มในที่ลุ่มที่เป็นพื้นที่ให้น้ำ
2. การจัดการแก้ไขฟื้นฟูดินเค็มภาคกลาง จากสาเหตุของการเกิดและการแพร่กระจายดินเค็มที่ต่างจากภาคอื่น ๆ ดังนั้นมาตรการในการจัดการปัญหาดินเค็มภาคกลาง สรุปได้ดังนี้
2.1 ด้านการเกษตรกรรม
2.2 ด้านการชลประทาน
2.3 ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม
3. การจัดการแก้ไขฟื้นฟูดินเค็มชายทะเล ในการปรับปรุงดินเค็มชายทะเล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือปลูกพืชนั้น ควรพิจารณาการใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ซึ่งมีมาตรการในการปรับปรุงพื้นที่ดินเค็มชายทะเลแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
3.1 ปรับปรุงเพื่อการเกษตรกรรม สามารถทำได้โดย 3.1.1 การขุดคลองระบายน้ำให้เพียงพอ
3.1.2 การล้างดินสามารถทำได้
3.1.3 การลดระดับน้ำใต้ดิน โดยวิธีระบายออกหรือสูบออก
3.1.4 การคัดเลือกพืชที่เหมาะกับระดับความเค็มของดินมาปลูก
3.1.5 การใช้วัสดุอินทรีย์ปรับปรุงดิน
3.2 การปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ โดยพิจารณาการใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสม 3.2.1 ป่าชายเลน
3.2.2 นาเกลือ
3.2.3 ปลูกไม้โตเร็วที่ทนเค็ม
3.2.4 เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
4. การจัดการดินเพื่อการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ พื้นที่ที่ผ่านการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมักพบปัญหาความเค็มของดินหรือบางพื้นที่มีปัญหาทั้งดินเค็มและดินเปรี้ยวจัดรวมอยู่ด้วยกัน การนำพื้นที่ดังกล่าวไปปลูกพืชเศรษฐกิจ สามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
4.1 ปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก
4.2 การล้างดิน
4.3 ใช้วัสดุปรับปรุงดิน
4.4 ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดิน
4.5 คัดเลือกพันธุ์พืชทนเค็มมาปลูก
มาตรการจัดการแก้ไขปัญหาดินเค็ม มีดังนี้
1. การป้องกันการแพร่กระจายดินเค็ม
2. การเพิ่มผลผลิตพืชในพื้นที่ดินเค็มน้อย-เค็มปานกลาง
3. การแก้ไขลดระดับความเค็มดินในพื้นที่ดินเค็มจัดที่ไม่สามารถปลูกพืชได้
4. การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็มจัด
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูดินเค็มควรใช้แนวทางเกษตรกรมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ฝึกอบรมเกษตรกรให้มีความรู้ในเรื่องการจัดการดินเค็มในระดับเกษตรกร และเสริมสร้างทัศนคติของเกษตรกรในการช่วยกันป้องกันการแพร่กระจาย และฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดินเค็ม และเมื่อสิ้นสุดโครงการควรมอบพื้นที่ให้องค์การบริหารส่วนตำบลรับผิดชอบในการดูแลรักษา
ข้อมูลจาก : กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน
ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรม และพังทลายของดิน โดยหญ้าแฝก พืชจากพระราชดำริ (กำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน)
“...การปลูกหญ้าแฝกเป็นแนวความคิดใหม่ อยากจะให้ปลูกโดยไม่ต้องหวังผลอะไรมากนัก
แต่ผลที่ได้จะดีมาก และการปลูกไม่จำเป็นต้องไปปลูกในที่ของเกษตรกร
ขอให้ปลูกกันในสถานีพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่อคัดพันธุ์ หาพันธุ์ที่ดี
ไปขยายพันธุ์โดยออกดอก ต้องดูว่าปลูกแล้วมีพันธุ์ไหนที่ทนแล้งในหน้าแล้งยังเขียวอยู่ก็ใช้ได้
โดยขอให้ปลูกก่อนฤดูฝน จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ข้างเคียงเห็น..."
พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
การชะล้างพังทลายของดินก่อให้เกิดการสูญเสียหน้าดินที่ประกอบไปด้วยสารอาหารซึ่งสะสมในดิน รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาติสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดินส่วนใหญ่เกิดจากกรณีผิวหน้าดินถูกกัดเซาะจากฝนที่ตกลงมา และน้ำที่ไหลบ่าหน้าดินเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้หน้าดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไป บางครั้งยังเกิดปัญหาดินพังทลาย ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อพื้นที่ทางการเกษตรกรรมสูง ทำให้ผลผลิตลดลง แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอจากการไหลบ่าของน้ำฝนเป็นจำนวนมากนี้เอง เมื่อไม่มีสิ่งใดมากั้นชะลอไว้ทำให้พื้นดินไม่สามารถเก็บกักน้ำฝนได้เต็มที่ และผิวหน้าดินจะถูกกัดเซาะพังทลายอย่างรุนแรง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงสภาพปัญหา และสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยทรงศึกษาถึงศักยภาพของ “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดินไว้ อีกทั้งเป็นพืชพื้นบ้านของไทย วิธีการปลูกก็ใช้เทคโนโลยีแบบง่าย ๆ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องให้การดูแลหลังการปลูกมากนัก อีกทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยวกับหญ้าแฝก มีใจความสรุปได้ว่า
1. หญ้าแฝกเป็นพืขที่มีระบบรากลึก
แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาทดลองปลูก
2. การดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝก
ให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
ก. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขา
ข. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบ
ค. การปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำ
ง. การปลูกหญ้าแฝกเหนือบริเวณแหล่งน้ำ
3. ผลของการศึกษาทดลอง
ควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดิน และการเก็บความชื้นในดิน และเรื่องพันธุ์หญ้าแฝกต่าง ๆ ด้วย
ลักษณะของหญ้าแฝก
หญ้าแฝกมีชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษว่า "Vetiver Grass" มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ
1. หญ้าแฝกดอน (Vetiveria nemoralis A. Camus)
2. หญ้าแฝกหอม (Vetiveria zizanioides Nash)
เป็นพืชที่มีอายุได้หลายปี ขึ้นเป็นกอแน่น มีใบเป็นรูปขอบขนานแคบปลายสอบแหลม ยาว 35-80 เซนติเมตร มีส่วนกว้างประมาณ 5-9 มิลลิเมตร สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศ โดยการแตกหน่อจากส่วนลำต้นใต้ดิน หรือแบบอาศัยเพศ โดยการให้ดอกและเมล็ดได้เช่นกัน
“...ขอให้ปลูกหญ้าแฝกไว้ด้วยเพราะหญ้าแฝกมีประโยชน์มากในการช่วยยึดดินไม่ให้พังทลาย
ช่วยรักษาหน้าดิน โดยเฉพาะที่โครงการนี้มีที่ลาดชันหลายแห่ง
นอกจากนี้หญ้าแฝกยังช่วยกักเก็บอินทรียวัตถุไว้ในดิน ใบอ่อนของหญ้าแฝกยังเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย…”
พระราชกระแส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ณ โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ประโยชน์ของการปลูกหญ้าแฝก
1. การปลูกหญ้าแฝกเป็นแถวตามระดับขวางความลาดชัน
2. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดินที่เป็นร่องน้ำลึก
3. การปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชัน
4. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ความชุ่มชื้นในดิน
5. การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการเสียหายของขั้นบันไดดิน หรือคันคูรับน้ำรอบเขา
6. การปลูกเพื่อควบคุมร่องน้ำ
7. การปลูกหญ้าแฝกในการป้องกันตะกอนดินทับถมลงสู่คลองส่งน้ำ ระบายน้ำ และอ่างเก็บน้ำในไร่นาตลอดจนปลูกรอบสระเพื่อกรองตะกอนดิน
8. การปลูกเพื่อฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม
9. การปลูกในพื้นที่ดินดาน
10. การปลูกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินบริเวณไหล่ถนน
11. การปลูกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำ

ประโยชน์อเนกประสงค์อื่น ๆ จากหญ้าแฝก
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา
- ใบและต้นหญ้าแฝกเป็นอาหารสัตว์และทำปุ๋ยหมัก
- ปลูกหญ้าแฝกเพื่อใช้ประโยชน์มุงหลังคาและอื่น ๆ ในบ้าน
จากการดำเนินงานที่ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือกันให้เป็นไปตามพระราชดำริ ทำให้การศึกษา และการปฏิบัติได้ผลอย่างชัดเจน จนเป็นที่ยอมรับจากธนาคารโลกว่า "ประเทศไทยทำได้ผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม"
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 International Erosion Control Association (IECA) ได้มีมติถวายรางวัล The International Erosion Control Association's International Merit Award แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็นแบบอย่างในการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2536 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดิน และน้ำแห่งธนาคารโลกได้นำคณะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเกียรติบัตรเป็นภาพรากหญ้าแฝกชุบสำริด ซึ่งเป็นรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ (Award of Recognition) ในฐานะที่ทรงมุ่งมั่นในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ผลการดำเนินงานหญ้าแฝกในประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกความอุดมสมบูรณ์ของพื้นแผ่นดินที่เพิ่มขึ้นนี้นับได้ว่าเป็นเพราะพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงศึกษาวิเคราะห์ตลอดจนคาดการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของประชาชนทั้งหลายทั่วหน้ากัน
วันดินโลก (World Soil Day)
“วันดินโลก (World Soil Day)” คือ วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันสำคัญที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน จะเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกปี ซึ่งนักปฐพีวิทยาของไทยทุกคนต่างภาคภูมิใจ เนื่องจากวงการปฐพีวิทยานานาชาติ มีฉันทานุมัติในการเลือกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นวันดินโลก และนักปฐพีวิทยาของไทยมีส่วนร่วมในการเชิดชูพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
แนวความคิดของการจัดตั้งวันดินโลก เริ่มต้นจากที่มีการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2554 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม ภายในงานมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน รวมถึงการจัดตั้งโครงการพระราชดำริในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเรื่องการจัดตั้ง “วันดินโลก” โดยที่ประชุมคณะกรรมการสหภาพ วิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติมีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ โดยใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลก ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ สภาพแวดล้อม และความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน

ทำไมต้องมี “วันดินโลก”
เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดิน “ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการเกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด
ลำดับเหตุการณ์การจัดตั้งวันดินโลก
1. การประชุมสภาโลกแห่งปฐพีวิทยา (World Congress of Soil Science) ครั้งที่ 17 ที่กรุงเทพมหานคร
2. วันที่ 9-15 กรกฎาคม 2548 ในการประชุมดินโลก World Congress of Soil Science ครั้งที่ 18 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
3. ปี 2553 มีการประชุมดินโลก ครั้งที่ 19 ที่เครือรัฐออสเตรเลีย
4. ปี 2550-2554 ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิต ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย พยายามดำเนินการ เรื่องถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
5. เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สันทัด โรจนสุนทร ราชบัณฑิตนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย นำศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ดคลิฟฟ์ กรรมการบริหารและอดีตเลขาธิการ IUSS พร้อมคณะผู้บริหาร IUSS เข้าเฝ้า ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil- Scientist) เป็นพระองค์แรกของโลก
6. วันดินโลก (World Soil Day) เกิดขึ้นเนื่องจาก IUSS เห็นว่าการถ่ายทอดความรู้ทางด้านดิน และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อมนุษยชาติและสภาพแวดล้อมให้แก่ประชาชนในประเทศต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ ในวันที่ 16 เมษายน 2555 หลังจากที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” แล้ว ผู้บริหาร IUSS ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก
7. เดือนธันวาคม ๒๕๕๕ ที่ประชุมสภามนตรีองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้มีการจัดตั้งวันดินโลก ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ IUSS เสนอ และ FAO ได้นำเรื่องวันดินโลก เสนอไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติเพื่อขอการรับรอง
8. วันที่ 20 ธันวาคม 2556 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญที่ 68 ได้มีมติรับรองให้วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี และให้ปี 2558 เป็นปีดินสากล (International Year of Soil in 2015) มีผลตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป วันดินโลกอยู่ในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ จะจัดงานเฉลิมฉลองวันดินโลกโดยทั่วกัน

รางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ
• รางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (Humanitarian Soil Scientist Award)
• รางวัล “International Merit Award” และรางวัล “รากหญ้าแฝกชุบสำริด”
• เหรียญเทเลฟูด (Telefood Award)
• รางวัลวันดินโลก (World Soil Day Award)
พระราชกรณียกิจด้านดิน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน ที่เกิดจากสาเหตุธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยวจัด ดินเค็ม หรือบางแห่งไม่มีดินเลย จึงทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า “ดินแร้นแค้น” พระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ฟื้นฟู อนุรักษ์ดินของพระองค์นั้น มีลักษณะเป็นธรรมชาติและเรียบง่าย ในทางปฏิบัติ เฉียบคม เหมาะเจาะ และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ ทรงเน้นการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในการพึ่งตนเอง ทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” คือทำให้ชุมชนเข้มแข็งก่อน จึงค่อยออกสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำความเจริญรุ่งเรืองจากภายนอก เข้าไปสู่ชุมชนที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งรับ ขั้นตอนต่อไป คือ พัฒนาให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้ตามสภาพและสามารถ “พึ่งตนเองได้” ในที่สุด
พระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างของความสำเร็จ” เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาตัวอย่างของจริง และนำกลับไปปฏิบัติได้เอง จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 6 ศูนย์ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดินเสื่อมโทรมและเป็นดินทราย, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีปัญหาดินเปรี้ยวจัด, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ที่ประสบปัญหาดินเค็ม และดินเสื่อมโทรม นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับการเกษตรมากกว่า 4,000 โครงการ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและปรับปรุงดินแทบทั้งสิ้น
พระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแก้ปัญหาเรื่องดิน
ทรงรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นเพื่อคนไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดีโดยแท้จริง
"อันที่จริงเราชื่อ “ภูมิพล” ที่แปลว่า “กำลังของแผ่นดิน”
แม่ก็อยากให้เธออยู่กับดิน เมื่อฟังคำพูดแล้วกลับมาคิด
ซึ่งแม่คงจะสอนเราและมีจุดมุ่งหมายว่าอยากให้ติดดิน และอยากให้ทำงานให้แก่ประชาชน"
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร)
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมพัฒนาที่ดิน
คำที่ควรรู้
*การแกล้งดิน : การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร
*แกล้งดินให้เปรี้ยว : ทำให้ดินแห้ง และเปียกสลับกัน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัด
*สารไพไรท์ : ชื่อของสารประกอบเฟอร์รัสซัลไฟด์ (ferrous sulfide, Fe2S) ซึ่งเป็นสารที่ไม่เสถียรในสภาวะแวดล้อมปกติ
*หญ้าแฝก : เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ
*ฉันทานุมัติ : ความเห็นชอบตามด้วยความพอใจ, การได้รับมอบหมายด้วยความเต็มใจ.
*อัจฉริยภาพ : ความเป็นผู้มีปัญญาความสามารถเกินกว่าระดับปกติ.
*สมัชชา : การประชุม (ใช้สำหรับการประชุมในสันนิบาตชาติ หรือในองค์การสหประชาชาติ)