พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา” ในปี พ.ศ. 2531 โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินงานพัฒนาต่าง ๆ ในกรณีที่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่เร่งด่วนและต้องแก้ไขโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนานับเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนาเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ
2. เพื่อส่งเสริมการพัฒนา ช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองและพึ่งพาตนเองได้
3. การดำเนินการใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม
4. ร่วมมือกับส่วนราชการ และองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการเพื่อเน้นในการสนับสนุนสาธารณประโยชน์ โดยไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
เป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข อยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ “ชัยชนะแห่งการพัฒนา”
“ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ‘ความสงบ’ เป็นเมืองไทยที่มีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้มีจุดประสงค์ คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี…”
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 4 ธันวาคม 2537)
...งานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นต้องทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว ...
เรื่องเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในระบบระเบียบของทางราชการ เนื่องจากราชการมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยากพอสมควร จะไม่ทันกับเวลา และปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็ว ... มูลนิธิฯ ดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน หากรัฐบาลเห็นสมควรว่ามีประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หรือจะนำแบบอย่างไปทดลองที่อื่นก็ได้...
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 11 กรกฎาคม 2539)
การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นไปตามแนวพระราชดำริ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน โครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และประสานการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการต่าง ๆ เกิดความสมบูรณ์ และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎระเบียบต่าง ๆ อันเป็นผลทำให้โครงการนั้น ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที เช่น ในกรณีที่อาจต้องจัดซื้อที่ดินจากราษฎรบางส่วนเพื่อดำเนินงานตามโครงการหนึ่ง แต่รัฐมีปัญหาด้านงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อ หรือมิได้ตั้งงบประมาณไว้ หรือถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่าง ๆ ทำให้ดำเนินการจัดซื้อไม่ได้ หรือต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อใน 1-2 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โครงการล่าช้าไป เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้มูลนิธิชัยพัฒนาจะได้ช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพื่อให้โครงการนั้น ๆ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีการดังตัวอย่างข้างต้นนี้ อาจนับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ของแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีมูลนิธิชัยพัฒนาในฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่จะเข้ามาประสานงาน ร่วมมือ สนับสนุน โครงการพัฒนาของรัฐอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้โครงการที่มีปัญหานั้น ๆ สามารถดำเนินงานไปได้ โดยก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างไม่เคยมีมาก่อนในอดีต
"มูลนิธิชัยพัฒนา มิได้มีหน้าที่โดยตรงที่จะบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนให้มีกิน ให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์ โดยช่วยในการให้มีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ หรือจะเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยให้สามารถที่จะทำการทำมาหากินโดยมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับโครงการในด้านการเกษตรก็ได้ทำมาก และในด้านเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ทำ เพื่อที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดเป้าหมายก็คือความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ ซึ่งถือว่าเป็นชัยชนะ"
(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538)
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดแบบตราสัญลักษณ์พร้อมความหมายด้วยพระองค์เอง และได้พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งประกอบด้วย
พระแสงขรรค์ชัยศรี : มีความหมายถึง พระราชอำนาจ พระบารมี และกำลังแผ่นดิน ที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่าง ๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร โดยทรงนำทัพเข้าสู้ด้วยพระองค์เอง
ธงกระบี่ธุช : มีความหมายคือ ธงนำทัพสู่ชัยชนะ สัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฎร์ และพระราชอาณาจักรให้พ้นภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น อยากให้ทุกคนร่วมในกองทัพเพื่อต่อสู้กับปัญหา
ดอกบัว : มีความหมายคือ ศักดิ์ศรี ความสงบร่มเย็น
สังข์ : มีความหมายคือ น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื้น ชโลมแผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญงอกงาม และความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร บรรดาทรัพยากรทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความอยู่ดี กินดี และความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน
ในปี 2559 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา
โดยคณะกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ประกอบด้วย
1. | สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการ |
2. | นายอำพล เสนาณรงค์ | กรรมการ |
3. | นายปราโมทย์ ไม้กลัด | กรรมการ |
4. | นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ | กรรมการ |
5. | นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ | กรรมการ |
6. | นายประพจน์ อัศววิรุฬหการ | กรรมการ |
7. | นายฐาปน สิริวัฒนภักดี | กรรมการ |
8. | คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ | กรรมการ |
9. | นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ | กรรมการ และเหรัญญิก |
10. | นางภากมล รัตตเสรี | กรรมการ และรองเหรัญญิก |
11. | นายสุเมธ ตันติเวชกุล | กรรมการ และเลขาธิการ |
12. | หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
13. | นายลลิต ถนอมสิงห์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
14. | พลเอก เจษฎา ศรีสุภาพ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
15. | นายดนุชา สินธวานนท์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
1. | สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการ |
2. | นายอำพล เสนาณรงค์ | กรรมการ |
3. | นายปราโมทย์ ไม้กลัด | กรรมการ |
4. | นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ | กรรมการ |
5. | นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ | กรรมการ |
6. | นายประพจน์ อัศววิรุฬหการ | กรรมการ |
7. | นายฐาปน สิริวัฒนภักดี | กรรมการ |
8. | คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ | กรรมการ |
9. | นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ | กรรมการ และเหรัญญิก |
10. | นางภากมล รัตตเสรี | กรรมการ และรองเหรัญญิก |
11. | นายสุเมธ ตันติเวชกุล | กรรมการ และเลขาธิการ |
12. | หม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
13. | นายลลิต ถนอมสิงห์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
14. | พลเอก เจษฎา ศรีสุภาพ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
15. | นายดนุชา สินธวานนท์ | กรรมการ และรองเลขาธิการ |
มูลนิธิชัยพัฒนา
2012 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 ประเทศไทย
โทรศัพท์ : 02-447-8585-8 โทรสาร : 02-447-8574
© 2025 Chaipattana. All rights reserved.
© 2025 Chaipattana. All rights reserved.